ชาน้ำมันมีถิ่นกำเนิดในมณฑลทางใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม ชาน้ำมัน คือพืช สกุลชา (Camellia L.) วงศ์ Theaceae ที่สามารถนำเอาเมล็ดแห้งมาบีบสกัดน้ำมัน เพื่อใช้ในการบริโภค มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia oleifera Abel โดยเฉพาะทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการบริโภคน้ำมันที่ได้จากเมล็ดชามาช้านาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น – ชาน้ำมันเป็นไม่พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสาก
ใบ – เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ขนาดกว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เหนียวและเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยถี่ ฐานใบอบเรียว ปลายใบแหลม
ดอก – เป็นดอกสมบูรณ์เพศออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 2-3 ดอก บริเวณซอกใบดอกบานขนาดผ่านศูนย์กลาง 4-8 ซม.กลีบดอก 5-9 กลีบ มีสีขาว ปลายกลีบมนและหยักเว้า ออกดอกช่วงกลางเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
ผล – เป็นผลแห้งชนิดแตกได้ (loculicidal capsule) รูปทรงกลม ขนาดผ่านศูนย์กลาง 2-5 ซม เมื่อแก่จะแตกออกจากบริเวณปลายผลเป็นแฉก 3-4 ส่วน แต่ละส่วนจะมีเมล็ด 1-5 เมล็ด

การใช้ประโยชน์

น้ำมันเมล็ดชาเป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี มาแล้ว เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซี่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้น้ำมันชายังมีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อร่างกายต่ำ ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว หรือกรดโอเลอิก (กรดโอเมก้า 9) สูงถึงประมาณ 87-81% กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (กรดโอเมก้า 6) ประมาณ 13-28% และ กรดแอลฟาไลโนเลอิก (กรดโอเมก้า 3) ประมาณ 1-3% กรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถช่วยลดระดับ LDL (คลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี) และเพิ่มระดับ HDL (คลอเรสเตอรอลชนิดดี) ในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้ จึงดีต่อสุขภาพของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ

นอกจากน้ำมันชาจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูงอย่างวิตามินอีและสารคาเทชิน ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น น้ำมันชายังมีจุดเดือดเป็นควันสูงถึง 252 องศาเซลเซียส (486 ฟาเรนไฮต์) ทำให้สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทอดหรือการผัดในอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก หรือเป็นส่วนผสมของน้ำสลัดหรือซอสหมักเนื้อสัตว์

ประโยชน์อื่นๆ ของน้ำมันชา

นอกจากจะใช้ในการบริโภคและประกอบอาหารแล้ว น้ำมันชายังสามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางค์บำรุงเส้นผมและผิวพรรณต่างๆ เช่น ครีมและโลชั่นบำรุงผิว ครีมกันแดด สบู่ ยาสระผม หรือผสมกับน้ำมันหอมระเหย จากการวิจัยน้ำมันจากเมล็ดชาเพื่อประโยชน์ทางเครื่องสำอางพบว่า โลชั่นที่ผสมน้ำมันชา 5% และ 10% ช่วยปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น รวมถึงลดความหยาบกร้านและริ้วรอยบนผิวของผิวอาสาสมัครได้ใน 8 สัปดาห์ รวมถึงได้รับการยอมรับจากอาสาสมัครในระดับที่น่าพอใจ กากเมล็ดชา (Tea Seed Meal) ที่ได้จากการหีบน้ำมันออกแล้วจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน (Tea seed cake) มีสารซาโปนินประมาณ 11-18% เป็นส่วนประกอบ สารตัวนี้สามารถนำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวและทำให้เกิดฟอง ใช้ในผลิตน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ รวมถึงน้ำยากำจัดศัตรูพืช หอยเชอรี่ในนาข้าว

พื้นที่ปลูกดำเนินการปลูกชาน้ำมัน