ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stephania venosa (Bl.) Spreng.
ชื่อเรียกอื่น : เปล้าเลือดเครือ สบู่เลือด(เหนือ) กลิ้งกลางดง (ตะวันตกเฉียงใต้) บอระเพ็ดยางแดง (ชายฝั่งทะเลภาคใต้) กระท่อมเลือด (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวงศ์ : MENISPERMACEAE
ลักษณะ : ไม้เถา มีลำต้นสะสมอาหาร เถาเกลี้ยง มียางสีแดงบริเวณปลายยอด หรือที่ก้านใบ ใบเดี่ยวรูปไข่ ขอบใบเว้าเล็กน้อยทำให้เห็นใบค่อนข้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบกว้าง 7-12 ยาว 6-11 ซม.ฐานใบรูปตัด หรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบ ตัด หรือมีติ่งเล็กน้อย ท้องใบ มีขนเล็กน้อย และเป็นมันวาวเล็กน้อย มักเห็นเส้นใบเด่นชัด ก้านใบ ยาว 5-15 ซม. ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกเพศผู้ ช่อแบบซี่รม ช่อยาว 4-16 ซม.มีช่อย่อยเป็นกระจุก ก้านดอกย่อยยาว 1-2 มม. กลีบเลี้ยง 6 ยาว 2-2.5 มม. 3 กลีบด้านนอกรูปใบหอกกลับ 3 กลีบด้านในรูป ไข่กลับ โคนเรียวเล็กลง กลีบดอก 3 สีส้ม รูปไข่กลับ หรือรูปสามเหลี่ยมกลับ ยาว ประมาณ 1.25 มม. เกสรเพศผู้ติดรวมกันที่ก้านมีลักษณะเป็นวงแหวน ก้านชูเกสร ยาว 1-1.75 มม. ช่อดอกเพศเมีย มักจะหนาแน่นกว่า บางช่อค่อนข้างติดกัน ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง 1 รูปรี ยาว 0.75 มม. กลีบดอก 2 คล้ายรูปไต ยาว 0.75 มม. รังไข่ ค่อนข้างเป็นรูปรี ยาว 1.5 มม. ผล แบบเมล็ดเดียวเปลือกเมล็ดแข็ง รูป ไข่กลับ ยาว 7 มม.
การกระจายพันธุ์ : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ
ช่วงเวลาการออกดอก :
ประโยชน์ :
- หัวว่านสบู่เลือด นำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย สุขภาพแข็งแรง (หัว[1],[4],[6], หัว[9])
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด (หัว)[1],[4],[6],[9]
- ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ใบ)[9]
- หัวนำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนไว้กินเป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)[1],[6]
- รากช่วยบำรุงประสาท บำรุงเส้นประสาท ป้องกันโรคความจำเสื่อม (ราก, ใบ)[1],[6],[9]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ไมเกรน (หัว)[6],[7]
- หัวใช้ผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ (ไม่ระบุ) มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน (หัว)[8]
- มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากกระท่อมเลือดมีสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholine esterase ทั้งยังพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็งอีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (หัว)[1]
- ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
- ช่วยรักษาอาการผอมแห้ง (หัว) ด้วยการใช้หัวนำมาต้มอาบหรือต้มกินเป็นยาบำรุงของสตรี แก้อาการผอมแห้ง หน้าตาซีดเซียวไม่มีน้ำมีนวล ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงได้ แต่การใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้องระมัดระวังสักหน่อยหากนำมาใช้กับสตรี (หัว)
- ช่วยรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ (หัว)
- ช่วยรักษาโรคหัวใจ
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (หัว)
- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง คนเลือดจางหรือเลือดน้อยให้ใช้หัวนำมาต้มกิน (หัว)
- ช่วยแก้เลือดลม ช่วยลดความดันโลหิต (หัว)
- ช่วยแก้ปอดพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยกระจายลมที่แน่นในอก (เถา, ต้น)
- ช่วยรักษาโรคลมชักหรือลมบ้าหมู โดยในตำราพระเทพระบุว่าให้ใช้สมุนไพรสบู่เลือดที่มีสีแดงเรื่อ ๆ (สีขาวไม่ใช้) ประมาณ 3 กิโลกรัมขึ้นไปเพื่อความเข้มข้นของยา นำหัวมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้กินก่อนอาหารเช้า เที่ยง และเย็น กินไปประมาณ 4-6 ปีอาการจะหายขาด (หัว)
- หัวใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ของเด็กได้ (หัว, ราก)
- เปลือกและใบใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้มาลาเรียได้ (เปลือก, ใบ)
- ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้หัวนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว, ราก)
- หัวใช้ดองกับเหล้ากินช่วยขับเสมหะ (หัว) ส่วนหนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้เสมหะในคอและทรวงอก (ต้น, หนาม)
- ช่วยแก้บิด (หัว, ราก)
- ช่วยขับผายลม (หัว)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ผล)
- ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ดอก)
- เถานำมาต้มกินเป็นยาขับพยาธิในลำไส้ (เถา)
- ดอกว่านสบู่เลือดช่วยฆ่าแม่พยาธิอันเกิดจากโรคเรื้อนและกุฏฐัง (ดอก)
- หนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้โลหิตอันเน่าในท้องในตกใน (หนาม)
- เถาใช้ปรุงเป็นยาขับโลหิตระดูของสตรีได้ (เถา)
- ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี แก้มุตกิดระดูขาวหรือตกขาวได้อย่างชะงัด ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดสด ๆ นำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ สัก 3-4 แว่นตำละเอียด ผสมรวมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้าขาว 40 ดีกรี แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมากิน 1 ถ้วยชา ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน (หัว)
- หัวใช้ต้มกิน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรีได้ (หัว)
- ใบสามารถนำมาใช้รักษาแผลสดและแผลเรื้อรังได้ (ใบ)
- ใบใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มอบไอน้ำ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามตัวได้ (ใบ)
- ช่วยแก้โรคผิวหนังมีผื่นคัน (ดอก)
- ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด แก้กลากเกลื้อนและหิด (ดอก, ใบ, ต้น, ราก)
- ช่วยแก้โรคเรื้อนใหญ่ เรื้อนน้อย (ใบ, ต้น, ราก)
- ช่วยแก้โรคมือเท้าไม่มีกำลังได้ (ต้น)
- เถาและก้านนำมาใช้ดองกับสุรากิน จะช่วยทำให้ผิวหนังชา ผิวอยู่ยงคงกระพันเฆี่ยนตีไม่แตก นักเลงสมัยโบราณนิยมกันมากทั้งนำมากินและนำมาทา (เถา, ก้าน)
- น้ำยางสีแดงสามารถนำมาใช้เป็นหมึกเพื่อใช้สักยันต์ตามตัวเพื่อทำให้หนังเหนียวได้ (น้ำยางสีแดง)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดฝานบาง ๆ ประมาณ 2 กำมือ นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวด แล้วเติมน้ำผึ้งพอประมาณ ดองทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊ก ก่อนอาหาร 3 มื้อและช่วงก่อนนอน (หัว)