ชื่อ : สบู่ดํา
ชื่อสามัญ : Black soap, Physic nut, Purging nut, Barbados nut, Kuikui pake, Pignon d’inde
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha curcas L.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่อท้องถิ่น : ละหุ่งรั้ว สบู่หัวเทศ สลอดป่า สลอดดำ สลอดใหญ่ สีหลอด (ภาคกลาง), มะเยา หมักเยา มะหัว มะหุ่งฮั้ว มะโห่ง หกเทก (ภาคเหนือ), มะเยา หมากเย่า สีหลอด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หงส์เทศ มาเคาะ (ภาคใต้), แจ้ทซู (หม่า), ทะวอง (เขมร), มั่วฮองซิว (แต้จิ๋ว), หมาฟ่งสู้ (จีนกลาง), บูราคีรี (ญี่ปุ่น)
ลักษณะ
ต้นสบู่ดำ จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 2-7 เมตร เป็นต้นไม้ที่อายุยืนมากกว่า 20 ปี ลำต้นเกลี้ยงเกลา ใช้มือหักได้ง่าย เนื่องจากเนื้อไม้ไม่มีแก่น ลำต้นและยอดคล้ายละหุ่งแต่จะไม่มีขน
โดยต้นสบู่ดำเป็นพืชที่ทนทานและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี จึงเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน หรือในพื้นที่ที่มีความสูงจนถึง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ
ส่วนการปลูกโดยทั่วไปแล้วจะใช้กิ่งปักชำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งชาวโปรตุเกสได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ใบสบู่ดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบคล้ายกับใบละหุ่ง แต่ใบจะหยักตื้นกว่า ใบมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือไข่ป้อม ๆ กว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลม
ขอบใบเรียบ มีรอยหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนเส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5-7 เส้น ตามเส้นใบจะมีขนอ่อนปกคลุมอยู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร
ดอกสบู่ดำ ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอดและตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยในช่อจะมีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ช่อดอกยาว
ประมาณ 6-10 เซนติเมตร ดอกตัวเมียมีกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ภายในหลอดมีขน ส่วนเกสรตัวผู้มี 10 อัน เรียงเป็นวง 2 วง (วงละ 5 อัน)
ส่วนอับเรณูตั้งตรง ดอกตัวเมียกลีบรองดอกจะไม่ติดกัน มีรังไข่และท่อรังไข่เกลี้ยง บางครั้งมีเกสตัวผู้ฝ่อ 5 ก้าน ภายในรังไข่มีช่อง 2-4 ช่อง มีไข่อ่อนอยู่ช่องละ 1 หน่วย
ผลสบู่ดำ ผลมีลักษณะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพู โดยส่วนมากแล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 3 พู มีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกหรือแก่จัดแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยอายุของผลสบู่ดำ
คือตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่คือประมาณ 60-90 วัน
เมล็ดสบู่ดำ เมล็ดมีสีดำ มีลักษณะกลมรี ผิวเกลี้ยง มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดละหุ่งสายพันธุ์ลายขาวดำเล็กน้อย สีตรงปลายของเมล็ดมีจุดสีขาวเล็ก ๆ ติดอยู่ เมล็ดมีความยาวประมาณ 1.7-1.9
เซนติเมตรและมีความหนาประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร โดยเมล็ด 100 เมล็ด จะหนักประมาณ 69.8 กรัม
ประโยชน์
- ใช้ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับมนุษย์ และใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์หรือสัตว์ป่า
- ดอกนำมาใช้เลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง
- ยอดอ่อน สามารถนำมารับประทานกับลาบได้ (เมี่ยน) ใบอ่อนสามารถนำมานึ่งหรือต้มใช้รับประทานได้อย่างปลอดภัย (ใบอ่อน)
- ผลใช้ทำเป็นยาเบื่อ ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง (เมี่ยน) ต้นใช้ทำเป็นยาเบื่อปลา (ต้น)
- ใช้ทำเป็นยาสำหรับคนและเป็นยาสำหรับรักษาสัตว์ โดยทุกส่วนของต้นสบู่ดำ รวมทั้งเมล็ด ใบ และเปลือกไม้ ทั้งสด ทั้งต้ม และจากการนำมาสกัด สามารถนำมาทำเป็นยาพื้นบ้าน
- เมล็ดใช้หีบเป็นน้ำมัน ใช้เป็นยาบำรุงรากผมได้
- ก้านสบู่ดำมีน้ำมันและให้ฟองแบบธรรมชาติจึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเป็นสบู่ได้
- น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องยนต์ที่มีรอบต่ำ จึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรซึ่งจากการทดสอบใช้น้ำมันจากสบู่ดำครบ 1,000 ชั่วโมง แล้วได้ทำการถอดชิ้นส่วนของเครื่องออกมาตรวจสอบ เช่น เสื้อสูบ ลูกสิบ แหวน ลิ้น หัวฉีด ฯลฯ ไม่พบว่ามีกาวเหนียวจับ และทุกชิ้นยังคงสภาพดีเหมือนเดิม ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกร
เป็นอย่างมากในช่วงสภาวะที่น้ำมันมีราคาสูงมากอย่างในปัจจุบัน - ผลแก่นำมาผ่าครึ่งแล้วใช้น้ำยางจากผลที่ได้นำไปใช้จุดตะเกียงแทนน้ำมันได้ (ม้ง)
- กากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสตีมเทอร์ไบน์ (Steam turbine) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ (กากเมล็ด)
- ใบหรือเมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้
- เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ด้วยการใช้กากที่เหลือจากการหีบน้ำมัน เพราะมีธาตุอาหารหลักมากกว่าปุ๋ยหมักและมูลสัตว์หลายชนิด (ยกเว้นมูลไก่ที่มีธาตุโพแทสเซียมและธาตุฟอสฟอรัสมากกว่า)
กากเมล็ดซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการหีบเอาน้ำมันไปใช้ สามารถนำมาอัดเป็นก้อนเพื่อใช้ทำปุ๋ยได้เช่นกัน (กากเมล็ด) - ต้นสบู่ดำสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นแนวรั้ว เพื่อช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ม้า แพะ ฯลฯ ไม่ให้เข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีสารพิษหรือกรดไฮโดรไซยานิค (Hydrocyanic acid)
ที่มีกลิ่นเหม็นเขียว - ใช้ปลูกเป็นร่มเงาสำหรับคนและสัตว์ ปลูกเพื่อป้องกันการถูกชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ใช้เก็บกักน้ำ
- นำมาใช้ทำเป็นน้ำมันหล่อลื่น เทียนไข
- เปลือกไม้สามารถนำมาสกัดสารแทนนิน (Tannin) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีและฟอกหนังได้
- เส้นใยใช้ทำเป็นเสื้อผ้า เชือก หรือใช้ในงานหัตถกรรม ใช้ในอุตสาหกรรมทอฝ้า
- ต้นสบู่ดำสามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษและทำเป็นไม้อัดได้ ซึ่งเป็นเนื้อกระดาษชั้นดี และมีความเป็นไปได้ที่จะได้เยื่อที่มีขนาดยาว ซึ่งในบ้านเรามีการใช้เยื่อจากต้นยูคาลิปตัสที่เป็นเยื่อสั้นเป็นหลัก
จึงได้มีการนำเข้าเนื้อเยื่อยาวจากต้นสนของต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากนำต้นสบู่ดำมาทำให้ได้เนื้อเยื่อยาวได้จริง ก็จะสามารถนำมาใช้ทดแทนเยื่อกระดาษที่นำเข้าได้ นำมาทำเป็นแผ่นไม้ประกอบ
ทำเป็นกระดาษสา - ทำเป็นเครื่องมือทำการเกษตรและอุตสาหกรรมครัวเรือน ใช้ในวัตถุประสงค์เพื่องานศิลปะ หรืองานหัตถกรรมด้านศาสนา
- ใช้เป็นแหล่งพลังงาน โดยใช้ทำเป็นฟืนและถ่าน ใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ทำรั้ว กิ่งก้านและต้นสามารถนำมาผลิตเป็นถ่าน น้ำส้มควันได้(กิ่งก้าน, ต้น)
- เมล็ดประกอบไปด้วยน้ำมันประมาณ 35-40% ส่วนเนื้อใน (Kernels) มีประมาณ 55-60% สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือครีมถนอมผิวได้
- น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสามารถนำมาใช้ทำเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้ควบคุมแมลงศัตรูฝ้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนเจาะสมอฝ้าย ศัตรูผัก มันฝรั่ง ข้าวโพด ฯลฯส่วนสารสกัดเมทานอล (Methanol extracts)
จากสบู่ดำที่มีสารพิษบางชนิดซึ่งช่วยควบคุมพยาธิในหอยที่นำมาใช้บริโภคได้ด้วย - ในด้านสาธารณสุข มีการใช้สบู่ดำเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงและแมลงวัน
แหล่งอ้างอิง
medthai.com/สบู่ดำ/