ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schima wallichii choisy
ชื่อเรียกอื่น : คายโซ่ จำปาดง พระราม (เลย, หนองคาย), บุนนาค (นครราชสีมา, ตราด), กาโซ้ (ยะลา, นครพนม), คาย ทะโล้ สารภีป่า สารภีดอย (ภาคเหนือ), กรรโชก (ภาคอีสาน), พังตาน พันตัน (ภาคใต้), ทะโล้ (คนเมือง), ไม้กาย (ไทใหญ่), เส่ยือสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กรึ๊สะ เต่อครื่อยสะ ตื้อซือซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หมูพี (เงี้ยงเชียงใหม่), ลำโคระ ลำพิโย๊วะ ลำคิโยะ (ลั้วะ), ตุ๊ดตรุ (ขมุ), มือแดกาต๊ะ (ภาคใต้ มาเลเซีย)
ชื่อวงศ์ : THEACEAE
ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงสูงประมาณ 15-25 เมตร ขนาดวัดรอบลำต้นได้ถึง 1.5 เมตร เปลือกนอกขรุขระแลมักแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีทาปนน้ำตาลอ่อน เปลือกในสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว เป็นพิษต่อผิวหนัง ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกตามปลายกิ่งสลับกันไปและมักติดเป็นกระจุกตามปลายๆกิ่ง โคนและปลายใบสอบเรียว ขอบใบเรียบหรือบางที่หยักตื้นๆตามขอบ หลังใบมักมีสีเขียวเข้ม ท้องใบและเส้นกลางใบมีขนขึ้นประปราย ดอก สีขาวหรือขาวนวล ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ กลิ่นหอม ก้านดอกยาว กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีจำนวนเท่ากันอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกล่างมักเล็กกว่ากลีบอื่น เกสรผู้มีจำนวนมาก สีเหลือง เกสรเมียมีอันเดียวสั้น ผลค่อนข้างกลม ผิวแข็งโตประมาณ 2.5-3 ซม. เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเข้มและจะแตกออกตามรอยประสาน เป็น 4-5 เสี่ยง แต่ละส่วนมีเมล็ด 4-5 เมล็ด
การกระจายพันธุ์ : มีเขตการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างในป่าทั่วทุกภาคของประเทศ พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ โดยมักพบขึ้นในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 2,000 เมตร และในป่าเบญจพรรณทั่วไปตามเขาที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตร
ช่วงเวลาการออกดอก : มกราคม ถึง เดือนมีนาคม
ประโยชน์ :
สรรพคุณ
- ดอกแห้งนำมาแช่หรือชงให้สตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ ดื่มต่างน้ำเป็นยาแก้ขัดเบา แก้ลมชัก ลมบ้าหมู
- รากและใบอ่อนใช้เป็นยาลดไข้
- คนสมัยก่อนจะใช้ต้นและกิ่งก้านอ่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่นเป็นยาแก้อาการคลื่นไส้
- น้ำต้มที่ได้จากต้นและกิ่งใช้ภายนอกเป็นยาหยอดหูแก้อาการปวดในหูได้ดีมาก
- ใบสดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
- ต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มรักษาโรคนิ่ว
- ช่วยป้องกันการเน่าของบาดแผล
ประโยชน์
- เปลือกต้นมีพิษใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการนำเปลือกต้นแบบสด ๆ มาทุบให้พอแตก แล้วนำไปแช่ในน้ำบริเวณห้วยหนองคลองบึง เป็นยาเบื่อปลาทำให้ปลาเกิดอาการมึนเมา จับได้ง่าย ๆ
- เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผง ใช้แต่งกลิ่นธูปหอมได้
- ขี้เทาจากเปลือกให้สีเทาใช้เป็นสีผสมอาหาร
- เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว สามารถนำมาแปรรูป ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดาน หรือนำมาใช้งานหัตถศิลป์ทั่วไป แต่ห้ามนำมาทำพื้นปูนอน เพราะจะทำให้ระคายผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพุพองและเน่าเปื่อยได้
- ชาวลั้วะจะใช้ลำต้นมังตานมาทำเป็นไม้ฟืน ส่วนคนเมืองจะใช้เนื้อไม้มาทำเป็นฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกสวยมีกลิ่นหอม
ข้อควรระวัง : เปลือกและเนื้อไม้ หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน