ชื่อ : ตะไคร้หอม

ชื่อสามัญ –

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon nardus Rendle.

ชื่อวงศ์ : Poaceae (Graminae)

ชื่อท้องถิ่น : จะไครมะขูด ตะไครมะขูด (ภาคเหนือ) ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)

ลักษณะ

ลำต้นเป็นข้อๆ ใบรูปขอบขนานปลายแหลม ใบยาวกว่าตะไคร้บ้าน ลักษณะของใบกว้าง 5-20 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร แผ่นใบแคบ ยาว และนิ่มกว่าตะไคร้บ้าน มีสีเขียว ผิวเกลี้ยง และมีกลิ่นหอมเอียน
ก้านใบเป็นกาบซ้อนกันแน่นสีเขียวปนม่วงแดง รากฝอยแตกออกจากโคน ต้นและใบมีกลิ่นฉุนจนรับประทานเป็นอาหารไม่ได้ ทั้งต้น มีรสปร่า ร้อนขม

ประโยชน์

ตำรายาไทย: ใช้ เหง้า เป็นยาบีบมดลูก  ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว ขับลมในลำไส้ แก้แน่น จุกเสียด แก้อาเจียน รากและเหง้าต้มกินแก้แผลในปาก แก้ปากแตกระแหง แก้ตานซางในลิ้นและปาก บำรุงไฟธาตุ
แก้ไข้ แก้อาเจียน แก้ริดสีดวงตา แก้ธาตุ แก้เลือดลมไม่ปกติ เหง้า ใบ และกาบ นำมากลั่นได้น้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นเครื่องหอม เช่น สบู่ หรือพ่นทาผิวหนังกันยุง แมลง ทั้งต้น มีรสปร่า ร้อนขม แก้ริดสีดวงในปาก
ขับโลหิต ทำให้มดลูกบีบตัว ทำให้แท้ง ขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ใช้ ราก ลำต้น และใบ เข้ายากับใบหนาด ใบเปล้าใหญ่ และเครือสัมลม แก้วิงเวียน ใบ คั้นเอาน้ำ ช่วยไล่ยุง
ตามตำรายาไทย: ตะไคร้หอมจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลธาตุ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ธาตุทั้งสี่ 3 อย่าง ได้แก่ เหง้ากระทือ เหง้าไพล และหัวตะไคร้หอม สรรพคุณบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กำเดา
ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์: ปรากฏการใช้ตะไคร้หอมในตำรับ “ยาทาพระเส้น” ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 11 ชนิดใช้ทาแก้เส้นที่ผิดปกติ แก้ลมอัมพาต แก้ลมปัตฆาฎ แก้ตะคริว แก้จับโปง แก้เมื่อยขบทั้งหลาย

แหล่งอ้างอิง

http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=61