ชื่อ : จันผา
ชื่อสามัญ –
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen.
ชื่อวงศ์ : ASPARAGACEAE
ชื่อท้องถิ่น : จันทน์ผา (ภาคเหนือ), จันทน์แดง (ภาคกลาง, สุราษฎร์ธานี), ลักกะจันทน์ ลักจั่น (ภาคกลาง), จันทร์ผา, ลักกะจั่น, จันทร์แดง
ลักษณะ
ต้นจันผาจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-4 เมตร (ต้นโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 17 เมตร) เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ มีเรือนยอดได้ถึง 100 ยอดเมื่อต้นโตขึ้น
จะแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง กลม มีแผลใบเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ไม่มีกิ่งก้าน ใบจะออกตามลำต้น ส่วนแก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง ต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นแก่นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง เราจะเรียกแก่นสีแดงว่า “จันทน์แดง” เมื่อแก่นเป็นสีแดงเต็มต้น ต้นก็จะค่อย ๆ โทรมและตายลง พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะกล้าจากเมล็ด
หรือการแยกกอ ชอบดินปนทรายหรือหินที่มีการระบายน้ำดี ความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดเต็มวันและแสงรำไร มักพบขึ้นตามป่าภูเขาหินปูนสูง ๆ และมีแสงแดดจัด
ใบจันผาใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันถี่ ๆ ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีขอบขนาน หรือเป็นรูปแถบยาวแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 45-80 เซนติเมตร เนื้อใบหนากรอบ โคนใบจะติดกับลำต้นหรือโอบคลุมลำต้น ไม่มีก้านใบ และมักจะทิ้งใบเหลือเพียงยอดเป็นพุ่ม
ดอกจันผาออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด โค้งห้อยลง ออกดอกเป็นพวงใหญ่ตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อจะมีความยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กและมีจำนวนมากมายหลายพันดอก ดอกเป็นสีขาวนวล หรือขาวครีม หรือเขียวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีจุดสีแดงสด กลีบดอกมี 6 กลีบ ดอกมีขนาดประมาณ 7-1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 ก้าน ก้านเกสรมีความกว้างเท่ากับอับเรณู ส่วนก้านเกสรตัวเมียปลายแยกเป็นพู 3 พู ชั้นกลีบเลี้ยงเป็นหลอด ที่ปลายกลีบแยกเป็นพูแคบ ๆ 6 พู ไม่ซ้อนกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผลจันผาออกผลเป็นช่อพวงโต ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นพวง ผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงคล้ำ
ภายในผลมีเมล็ดเดียว โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
ประโยชน์
- แก่นมีรสขมเย็น ช่วยบำรุงหัวใจ (แก่น, ทั้งต้น)
- แก่นที่มีเชื้อราลงจนทำให้แก่นเป็นสีแดงและมีกลิ่นหอมมีสีแดง (เรียกว่า จันทน์แดง) มีรสขมและฝาดเล็กน้อย ใช้สำหรับเป็นยาเย็นดับพิษไข้ แก้ไข้ได้ทุกชนิด และจากการทดลองในสัตว์พบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ในการลดไข้ แต่ต้องใช้ในปริมาณมากกว่ายาแอสไพริน 10 เท่า และจะออกฤทธิ์ช้ากว่ายาแอสไพรินประมาณ 3 เท่า (แก่น, แก่นที่ราลง)
- ช่วยแก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดีพิการ (แก่น, เนื้อไม้)
- ช่วยแก้ไอ แก้อาการไออันเกิดจากซางและดี (แก่น, เนื้อไม้๗)
- เมล็ดใช้รักษาดีซ่าน (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาจมไม่ปกติ (เมล็ด)
- ทั้งต้นช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ซาง (แก่น)
- ช่วยแก้อาการเหงื่อตก อาการกระสับกระส่าย (แก่น)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (แก่น, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ดีพิการ แก้น้ำดีพิการ (แก่น, เนื้อไม้)
- ช่วยแก้บาดแผล รักษาบาดแผล (แก่น, ราก)
- แก่นใช้ฝนทาช่วยแก้อาการฟกบวม ฟกช้ำ ฝี บวม (แก่น)
- ช่วยแก้พิษฝีที่มีอาการอักเสบและปวดบวม (แก่น, ทั้งต้น)
- จันผาจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเบญจโลธิกะ” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง (แก่นจันผา, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์ชะมด, ต้นเนระพูสี, ต้นมหาสะดำ) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดี แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และช่วยแก้รัตตะปิตตะโรค (แก่น)
แหล่งอ้างอิง
medthai.com/จันทน์ผา/