เส้นทางของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย
(น้ำมันเมล็ดชา)
เริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยรศ.ดร.นลิน นิลอุบล สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ประโยชน์จากเมล็ดชาน้ำมัน และเสนอให้มีการส่งเสริมการปลูกชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera
ภาพดอกของต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera
ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องชาน้ำมันด้วยพระองค์เอง และได้มีรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ว่าทรงสนพระทัยในการนำชาน้ำมันมาปลูกในประเทศไทย
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จึงได้เดินทางไปยังเมืองคุณหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสืบทราบพบว่า มีโรงงานชาน้ำมันอยู่ในเมืองคุณหมิง จึงได้ขอเข้าชมโรงงานชาน้ำมัน พร้อมทั้งได้ซื้อน้ำมันเมล็ดชา (น้ำมันเมล็ดคามีเลีย) กลับมาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ว่าได้ทรงนำน้ำมันเมล็ดชา (น้ำมันเมล็ดคามีเลีย) ไปประกอบอาหารแล้ว เป็นน้ำมันที่ดีมาก
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 สำนักราชเลขาธิการมีหนังสือแจ้งถึงมูลนิธิชัยพัฒนาว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาติดต่อ และทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera เพื่อผลิตชาน้ำมัน จากนั้นสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เริ่มดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยติดต่อกับสถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้าชาน้ำมัน มาทดลองปลูกในประเทศไทย
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 สถาบันพฤกษศาสตร์ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งเมล็ดพันธุ์ชาน้ำมันชนิดดอกสีแดง และดอกสีขาว จำนวน 10 กิโลกรัม และต้นกล้าชาน้ำมันชนิดดอกสีแดง และดอกสีขาว จำนวน 61 ต้น เพื่อนำมาทดลองปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
หลังจากปลูกชาน้ำมันไประยะหนึ่ง ก็เริ่มมั่นใจว่าชาน้ำมันที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือของประเทศไทย และต้องเริ่มศึกษาเรื่องชาน้ำมันให้ละเอียดขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริ จึงได้ทดลองปลูกชาน้ำมันในพื้นที่กว่า 3,722 ไร่
โดยพื้นที่ประกอบไปด้วย
1. พื้นที่บริเวณหมู่บ้านปางมะหัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
พื้นที่จำนวน 1,446 ไร่ จำนวน 296,740 ต้น
2. พื้นที่ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 233 ไร่ จำนวน 39,430 ต้น
3. พื้นที่บริเวณหมู่บ้านปูนะ จังหวัดเชียงราย
พื้นที่จำนวน 2,010 ไร่ จำนวน 419,893 ต้น
4. พื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่จำนวน 9 ไร่ จำนวน1,602 ต้น
5. พื้นที่แปลงชาน้ำมัน บ้านโปง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่จำนวน 15 ไร่ จำนวน 2,200 ต้น
6. พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองไผ่
อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่จำนวน 8 ไร่ จำนวน 2,046 ต้น
7. พื้นที่บริเวณสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ
พื้นที่จำนวน 1 ไร่ จำนวน 88 ต้น
รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 3,722 ไร่ จำนวน 761,999 ต้น
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติแต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ให้เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะทำงานชาน้ำมัน ได้ดำเนินการตามหาชาน้ำมันเพิ่มเติม โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปศึกษาชนิด และสายพันธุ์ของชาน้ำมัน วิธีการปลูกชาน้ำมัน ชมแปลงปลูกชาน้ำมัน พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาน้ำมันในเมืองคุณหมิง และหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านชาน้ำมันจากสถาบันวิจัยป่าไม้กวางสี (Guangxi Forestry Research Institute) มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4 ท่าน เดินทางมาประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ และศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศในภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งแนะนำชาน้ำมันสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตน้ำมันมากกว่าพันธุ์ดั้งเดิม โดยจัดให้คณะผู้เชี่ยวชาญชาวจีนได้ศึกษาดูงานและร่วมประชุมกับคณะทำงานโครงการชาน้ำมันที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 คณะทำงานชาน้ำมัน จำนวน 7 ท่าน ได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาเพิ่มเติม และจัดหาเมล็ด พร้อมต้นกล้าชาน้ำมันพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยคณะทำงานได้นำเมล็ดพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม รวมทั้งต้นกล้าประมาณ 200,000 ต้น จากเมืองหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาทดลองปลูกและขยายพันธุ์ชาน้ำมันในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวนกว่า 3,000 ไร่ พบว่าต้นชาน้ำมันที่ทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ มีการเจริญเติบโตดี สามารถติดผลในปีที่ 3-4 และมีปริมาณน้ำมันในเมล็ดสูงถึงร้อยละ 30-35
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนา ชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดยมีเอกอัครราชฑูตประจำประเทศไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้มณฑลกวางสี และคณะร่วมรับเสด็จฯ และน้อมเกล้าฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ชาน้ำมันจำนวน 2,500 กิโลกรัม รวมทั้งต้นกล้าชาน้ำมันจำนวน 40,000 ต้น จากเมืองกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำมาเพาะปลูกและขยายพันธุ์ในพื้นที่โครงการฯ ต่อไป
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมัน เพื่อแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินบริเวณเชิงเขา ให้ราษฏรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความยากจน โดยวิธีการจ้างปลูก และดูแลในระยะเริ่มต้น เก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าในระยะยาว และในอนาคตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับทฤษฎี สร้างป่าสร้างรายได้ หลังจากนั้นจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553 บนพื้นที่กว่า 154 ไร่ ตั้งอยู่ที่ 888 หมู่ 10 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันเมล็ดคามีเลียและพืชน้ำมันอื่นๆ ซึ่งโรงงานจะดำเนินการผลิตน้ำมันคุณภาพสูง สำหรับการบริโภค เครื่องสำอาง และยารักษาโรค นอกจากนั้นยังได้นำกากวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตน้ำมัน ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดหอยเชอร์รี่ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกส่วนของพืชนั้นๆ และมีพระราชดำริให้โรงงานชาน้ำมัน เป็นโรงงานต้นแบบ สามารถเข้าชมได้ ทุกจุดของโรงงาน มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สะอาด มีการคำนึงถึงระบบสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ มีระบบควบคุมการใช้พลังงาน มีรูปแบบโรงงานที่ทันสมัย สวยงามและมีสีสัน ด้านนอกทำเป็นส่วนพักผ่อนสาธารณะ เป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม และได้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำมัน
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ และได้ทำการวิจัยและพัฒนาในการนำน้ำมันจากเมล็ดชาไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ซึ่งทางโครงการฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สบู่ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าประจำ และลูกค้าผู้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯ นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังจัดให้มีบริการอื่นอีกเช่น สวนพักผ่อน ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า ลานนิทรรศการ และลานกิจกรรมให้ความรู้ แก่ผู้มาเยี่ยมชมและประชาชนโดยทั่วไป ถึงการผลิตน้ำมันเมล็ดคามีเลีย และพืชน้ำมันอื่นๆ
Post Views: 8,998